กินยาแก้อักเสบ (ยาปฏิชีวนะ) บ่อยๆ ทำให้เชื้อโรคดื้อยา รักษาไม่หาย
จากความไม่รู้ และใช้ยาไม่เป็น ทำให้ขณะนี้ประเทศไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงที่จะเกิดความเสี่ยงเชื้อดื้อยาระบาด โดยที่ประชาชนในประเทศยังไม่ได้เตรียมตัว รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว
พฤติกรรมของคนไทยในการใช้ยาพบว่า มีความเข้าใจผิดและนำไปสู่การใช้ยาแบบผิดๆ ลักษณะที่พบได้บ่อย คือ การซื้อยารับประทานเอง การกินยาไม่ครบตามคำแนะนำ การใช้ยาผิดประเภท เช่น ใช้ยาแรงเกินไป หรือใช้ยาผิดวัตถุประสงค์
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะ แบบผิดๆ เหตุเพราะคนไทยมักเรียกจนติดปากว่า 'ยาแก้อักเสบ' แต่ความจริง ยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียบางประเภท เช่น บาดแผล ก็ทำให้เกิดอาการบวมแดงได้เช่นกัน เมื่อกินยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ก็สามารถทำให้อาการบวมแดงยุบได้เช่นกัน จึงเกิดเป็นความเข้าใจผิดว่า ยาปฏิชีวนะ คือ การแก้อักเสบ
ในทางการแพทย์ ยาแก้อักเสบ คือ ยาที่ช่วยลดอาการปวดบวม เช่น ยากลุ่มแอสไพริน (Aspirin) เอ็นเซด (NSAI) โดยรักษาการปวดกล้ามเนื้อ การอักเสบของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อติดเชื้อแบคทีเรียแล้วเข้าใจผิดว่า ต้องรักษาการอักเสบ จึงทำให้คนไทยใช้ยาผิดประเภทเป็นจำนวนมาก
ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินหายใจและผิวหนังได้ดี คานามัยซิน มีสรรพคุณทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะได้ดี โคไตรม็อกซาโซล ทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
เมื่อนำไปใช้ผิด นอกจากไม่ช่วยทางการรักษา ยังทำให้เซลล์ในร่างกายพัฒนาตัวเอง จนเมื่อป่วยหรือร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียจริงๆ ยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถเข้าไปทำลายเชื้อนั้นๆ ได้ เช่น เมื่อเป็นหวัด ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาแก้อักเสบ เพราะหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิด 'การรดื้อยา' และยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อีกด้วย
ประเทศไทยพบว่าเริ่มมีการดื้อยาของเชื้อ E.coli (อีโคไล) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้ เมื่อเกิดการดื้อยา ก็ทำให้ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงมากขึ้น คือ ยาในกลุ่มcarbapenems (คาร์บาพีแนม) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์แรง และเหลือยาไม่มีตัวที่จะใช้รักษาได้หากดื้อยาดังกล่าว จึงเสี่ยงที่จะเกิด 'ซูเปอร์บั๊ก' ขึ้นได้
ใช้ยาถูกวิธีไม่มีอันตราย
กินยาอย่างไร ให้ถูกต้อง และปลอดภัย เป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถาม และปฏิบัติให้ถูกวิธี หลังพบว่าพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยยังเกิดขึ้นแบบผิดๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้ยา
การใช้ยาที่ถูกวิธี มีหลักง่ายๆ คือ ยาไม่ใช่สิ่งที่แบ่งกันได้ เมื่อแพทย์จ่ายยาแล้ว ไม่ควรนำไปแบ่งคนอื่น หรือขอยาจากคนอื่นมารับประทาน เพราะยาจะมีประโยชน์เมื่อกินถูกโรค ตรงตามอาการ กินตามปริมาณที่สั่งจ่าย ไม่เพิ่มหรือลดปริมาณเอง โดยเฉพาะเด็กต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวด้วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ตับ ไต หรือหญิงตั้งครรภ์ ก็มีข้อจำกัดในการรับยาต่างกับคนทั่วไป
สิ่งที่ควรทำเมื่อต้องใช้ยา
ปรึกษาเภสัชกร ให้เข้าใจก่อนการใช้ยา เช่น ชื่อสามัญของยา เพื่อประโยชน์ หากแพ้ยา และป้องกันการได้รับยาซ้ำซ้อน, สรรพคุณของยา, ข้อควรระวัง, ระยะเวลาในการกิน, อาการไม่พึงประสงค์ จากการใช้ยา เพื่อสังเกตอาการของตนเอง เพราะยาบางชนิดหากแพ้อาจอันตรายถึงชีวิต
ทราบอาการข้างเคียง เพราะยาบางชนิด ในเอกสารกำกับยาอาจระบุข้อควรระวังจากการใช้ยา เช่น รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงนอนไม่ควรใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ ยานี้จะระคายเคืองกระ เพาะอาหาร ถ้ารับประทานขณะท้องว่างอาจจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ เป็นต้น
อ่านฉลากทุกครั้ง ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น ยากิน ยาทา ยาอม ยาแปะ ยาใช้เฉพาะที่ และสังเกตวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ หากฉลากยาเลอะเลือนก็ไม่ควรรับประทานเพื่อความปลอดภัย
เก็บให้ถูกวิธี เพราะยาแต่ละประเภทจะมีวิธีเก็บที่ต่างกัน เช่น ต้องเก็บที่อุณหภูมิห้อง, เก็บในอุณหภูมิต่ำ, ห้ามโดนแสง, ทิ้งทันทีเมื่อเปิดใช้ 1 เดือน เช่น ยาหยอดตา เป็นต้น นอกจากนี้ ควรสังเกตลักษณะของยาเพื่อป้องกันการใช้ยาเสื่อมสภาพ เช่น เม็ดยาสีซีดจากเดิม กลิ่นเปลี่ยนไป หรือฉุนผิดปกติ ยามีความหนืด หรือเกิดตะกอน
นอกจากนี้ ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และควรจัดเก็บ ยารับประทาน ยาทา ยาอันตรายให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ควรนำมาไว้รวมกันเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
|