เมื่อผมเขียนถึงโรคโรคหนึ่ง คือ ไฮโปไกลซีเมีย (HYPOGLYCEMIA) เมื่อ 14-15 ปีมาแล้ว ว่าเป็นโรค ของคนสมัยใหม่ ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นโรคระบาดสำหรับคนไทย โดยเฉพาะท่านที่เป็น
นักบริหาร หรือท่านที่ต้องใช้ชีวิต อยู่ในออฟฟิศ หรือที่ทำงานทุกวัน
ปรากฏว่าผมถูกโจมตีหั่นแหลกไปเลย โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางโรคเบาหวาน กล่าวหาว่า ผมเอาเรื่องเหลวไหลมาพูด และอย่าไปฟังหมอเถื่อนๆ อย่างผมเป็นอันขาด
ในตอนนั้นผมไม่ได้ตอบโต้อะไรเลย เพราะนึกอยู่อย่างเดียวว่า เรามีเจตนาดีที่จะเอาความรู้ มาเผยแพร่ เมื่อใครไม่เข้าใจ ก็ช่วยไม่ได้ เราเฉยๆเสียดีกว่า
แต่มาถึงเวลาที่จะเขียนบทความคราวนี้ ผมคิดว่าน่าจะอธิบายอะไรบางอย่าง เพื่อให้ท่านผู้อ่าน เข้าใจเสียก่อน เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดการเข้าใจผิด และถูกโจมตี โดยที่ผมไม่มีโอกาส ได้แก้ตัวอะไรเลย
ไฮโปไกลซีเมีย แปลว่า “นํ้าตาลในเลือดตํ่า” นํ้าตาลในที่นี้ ไม่ใช่นํ้าตาลหวาน หรือนํ้าตาลในขนม และของหวานต่างๆ นั่นคือ นํ้าตาลซูโครส ซึ่งก็คือนํ้าตาลขาว ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้
ส่วนนํ้าตาลในเลือดของเราคือ นํ้าตาลกลูโคส ซึ่งหน้าที่ของมันก็คือ เป็นพลังงานสำคัญ ที่ช่วยให้เรา มีเรี่ยวมีแรง ทำงานทำการ และทำอะไรต่ออะไรได้
สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาการ นํ้าตาลในเลือดตํ่า ของผู้ที่เป็น เบาหวานนั้น เป็นคนละอย่าง กับนํ้าตาลในเลือดตํ่า ของผู้ป่วยทั่วๆ ไป
ขออธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ปกติเมื่อมีนํ้าตาลในเลือดสูง ตับอ่อน จะทำหน้าที่ ขับฮอร์โมน อินซูลินออกมา เพื่อบังคับให้อัตรานํ้าตาลในเลือด ลดลงมาในระดับปกติ แต่ในกรณี ของผู้ป่วย เป็นเบาหวาน ตับอ่อนขับอินซูลินออกมาได้น้อย หรือขับออกมาไม่ได้เลย เมื่อเป็นดังนี้ นํ้าตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวาน จึงสูงเกินอัตราปกติ อยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย หมดแรง ปัสสาวะบ่อย นํ้าหนักลด และจะมีอาการอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ปวดหัว มีอาการของหัวใจ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น
วิธีแก้ ซึ่งที่จริงเป็นการบรรเทาอาการไม่ใช่การรักษา ก็คือ ให้ยากิน หรือให้ฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุม อัตรานํ้าตาลในเลือด ยากินหรืออินซูลินอย่างฉีดนี้ จะต้องให้อยู่เป็นประจำ และในบางครั้ง จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญ หรืออย่างใดก็ตาม ยาที่กิน หรืออินซูลินที่ฉีดเข้าไป เกินขนาดมากเกินไป ผู้ป่วยก็จะมีอาการ ไฮโปไกลซีเมีย ซึ่งก็คือนํ้าตาลในเลือดตํ่า อาการของผู้ที่นํ้าตาลในเลือดตํ่า หรือไฮโปไกลซีเมีย จากการที่ยาคุมเบาหวาน เกินขนาดนี้ จะทำให้เกิดอาการ เพลียอย่างหนัก ปวดหัว เกิดอาการหิว จนจะเป็นลม ตาลายมืออ่อนเท้าอ่อน และถ้าอาการหนักมาก แก้ไขไม่ทัน ก็จะถึงขั้นโคม่า และถึงแก่ความตายได้
นั่นคืออาการไฮโปไกลซีเมียของผู้ป่วยเป็นเบาหวาน ซึ่งต่างกันกับไฮโปไกลซีเมีย ของผู้ป่วยอื่นๆ ทั่วไป ความสำคัญของผู้ป่วยทั่วๆ ไป ก็คือเขาไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่เขามีอาการ ของนํ้าตาลในเลือดตํ่า เหมือนคน เป็นเบาหวาน
ตรงนี้แหละครับที่เกิดการเข้าใจผิดขึ้นระหว่างแพทย์ที่รักษาเบาหวานหลายคน ที่กล่าวหาว่า มีหมอเถื่อนคนหนึ่ง ตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในการรักษาโรคเบาหวาน และหมอเถื่อน ที่ถูกกล่าวหา คนนั้น ก็คือผมนั่นเอง
ก็หวังว่าความเข้าใจผิดเช่นนั้น คงจะกลายเป็นความเข้าใจถูกขึ้นบ้างนะครับ สำหรับคำอธิบายสั้นๆ ของผมคราวนี้
อันที่จริง ความเข้าใจผิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในเมืองไทยนี้เท่านั้น ในอเมริกา ก็มีการเข้าใจผิด แบบเดียวกัน และ มีการโจมตีแบบหนักหนา สาหัสเหมือนกันว่า โรคไฮโปไกลซีเมีย แบบชาวบ้าน ที่มีแพทย์บางคนพูดกันนั้น เป็นเรื่องยกเมฆทั้งเพ
เมื่อประมาณเกือบ 80 ปีที่แล้วมาก็คงทราบกันอยู่แล้วว่า อเมริกาได้เป็นมหาประเทศ มานานแล้ว และระบบชีวิต ของคนในประเทศรํ่ารวยครั้งนั้น มาจนบัดนี้ ก็คือชีวิต ของคนสมัยใหม่ กินอาหาร ฟาสต์ฟู้ด หรือ จานด่วน ดื่มนํ้าอัดลม ใช้ชีวิตอยู่ในออฟฟิศ หรือ สำนักงาน ตั้งแต่เช้าจดคํ่า ชีวิตเต็มไปด้วย ความรีบร้อน และเร่งรีบตลอดเวลา
โรคไฮโปไกลซีเมีย จึงเกิดขึ้นกับคนในเมืองใหญ่ๆ และในเมืองหลวง ในสมัยนั้น ยังไม่มีใครรู้จัก โรคแบบนี้ เป็นแต่สงสัยว่า อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น คือโรคอะไร และจะรักษา ได้อย่างไรเท่านั้น
อาการสำคัญๆ ของโรคสมัยใหม่ของคนเมืองใหญ่ขณะนั้นก็คือ เหนื่อยเพลีย จนแทบจะเป็นลม ปวดหัว คลื่นไส้ นอนไม่หลับ เหงื่อโชกทั้งตัว เวลานอน ปวดเนื้อปวดตัว มือไม้สั่น และ อาการอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ความลึกลับของโรคสมัยใหม่ของคนสมัยใหม่นั้นก็คือ เมื่อไปหาแพทย์ตรวจแล้ว ตรวจอีก ผลออกมา ก็จะเป็นว่า ผู้ป่วยร่างกายสมบูรณ์ ไม่มีอะไรผิดปกติ และอาการที่เป็นนั้น ก็หาสาเหตุไม่ได้ และ รักษาก็ไม่ได้ด้วย
โรคเหล่านี้ผู้ป่วยที่มาหาแพทย์ แรกๆ ก็จะมีเพียงคนสองคน แต่เมื่อแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ว่า เพราะอะไร โรคนี้ก็ดูจะกลายเป็น โรคลึกลับ โดยเหตุที่เป็นโรคลึกลับ ก็เลยพูดกันมาก และบอกต่อๆไป มากยิ่งขึ้น ผลที่สุด ปรากฏว่า โรคลึกลับนี้ มีคนไข้ที่ป่วย มีอาการเหมือนกัน มากมายเหลือเกิน เป็นกัน เกือบจะหมดทั้งเมือง ก็ว่าได้
แต่โรคนี้ก็ยังเป็นโรคลึกลับกันอยู่ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเรียกโรคนี้กันว่า โรคอะไรกันแน่ เมื่อคนไข้ มาหาแพทย์ ก็มักจะถูกกล่าวหาว่า คนไข้เป็นโรคอุปาทานบ้าง เป็นโรคจิตบ้าง
จนกระทั่งมีหมอคนหนึ่งป่วยเป็นโรคลึกลับนี้เสียเอง หมอคนนี้ชื่อนายแพทย์สตีเฟน ไกแลนด์ ซึ่งเป็นแพทย์ ประจำโรงพยาบาล ที่แทมปา ฟลอริดา และได้ป่วยเป็นโรคลึกลับ เช่นนี้มาเป็นเวลา กว่าสิบปี เขาไม่รู้ว่า เขาป่วยเป็นอะไร รู้แต่ว่าร่างกายและจิตใจเขา กำลังเลวลงๆ อ่อนเพลีย ระโหย ไม่มีแรง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ปวดเนื้อ ปวดตัว มือไม้สั่นตลอดเวลา
เขาไปหาเพื่อนซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เพื่อนเขาบอกว่า เขาไม่เป็นอะไร แต่การป่วยของเขา ก็ยังปรากฏ อาการอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ขอให้เขาลาออก เพราะการเป็นแพทย์ ซึ่งป่วยอยู่ตลอดเวลานี้ คงเป็นอันตราย ต่อการรักษาคนไข้อื่นๆ แน่นอน
เขายังไม่หยุดยั้งในการแสวงหาแพทย์ ซึ่งจะช่วยเขาได้ ผลสุดท้าย ได้รักษากับแพทย์ถึง 14 คน แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ไปหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดอีก 3 คน ก็ไม่ได้ผลอีกเช่นกัน
และกับผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เอง นายแพทย์ไกแลนด์ได้เคี่ยวเข็ญว่า อย่างน้อยที่สุด จะต้องระบุ ชื่อโรคออกมา ให้ได้ว่า เขาเป็นโรคอะไรกันแน่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็หมดปัญญา เลยบอกว่า อาจจะเป็นได้ถึง 4 โรค ให้เขาเลือกเอาเอง ก็แล้วกันว่า จะเลือกเป็นโรคอะไร
โรค 4 โรค นั้นคือ 1. โรคประสาท (NEUROSIS) 2. เนื้องอกในสมอง (BRAIN TUMOR) 3. เบาหวาน และ 4. เส้นเลือดในสมองตีบ (CEREBRAL ARTERIOSCLEROSIS)
นายแพทย์ไกแลนด์ก็เลยเกิดอาการเป็นงง เพราะเขาเชื่อแน่นอนว่า เขาไม่ได้เป็นโรคใด โรคหนึ่ง ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้เขาเลือกเลย
แล้วเขาก็บังเอิญมาค้นคว้าพบรายงานของแพทย์ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาเอง รายงานนี้ ทำให้เขารู้สึก เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เพราะเขาได้รู้จัก เป็นครั้งแรก หลังจากที่ตกนรก มาถึงสิบกว่าปี ว่าเขาป่วยเป็นโรค HYPOGLYCEMIA นํ้าตาลในเลือดตํ่า
เรื่องของนายแพทย์ไกแลนด์ และอาจารย์นายแพทย์ที่ค้นพบโรคนี้ เป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องน่าเบื่อ จนเกินไป ผมจะเขียนสลับเป็นตอนๆ ไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ ขอจบด้วยเรื่อง ของคนไข้คนหนึ่ง ซึ่งสามารถรักษาโรค ไฮโปไกลซีเมียของเธอ ด้วยวิธีง่ายๆ
นางสาวซินดี บี ได้พบว่าเธอเป็นลมหน้ามืดบ่อยๆ และจะเป็นโดย ไม่มีอาการล่วงหน้า เธอนึกว่า เธอคงไม่เป็นไร ก่อนหน้านั้น เธอเคยไปหาแพทย์ประจำตัว เมื่อเธอรู้สึกเพลียไม่มีแรง แพทย์ประจำตัว ของเธอ บอกให้เธอกิน ขนมหวาน ประเภททอฟฟี่ หรือ ช็อกโกแลตแท่ง หรือ แคนดี้บาร์บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเธอเพลียๆ เธอจึงคิดว่า เวลาเธอหน้ามืด อาจจะเป็นเพราะ เธอลืมกินขนมหวาน จึงพกขนมหวาน ติดตัวไว้กิน ตลอดเวลา
แต่อยู่ๆเธอก็หน้ามืดอีก 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะตอนไปตลาดซุปเปอร์มาร์เกต เธอกลับมาบ้าน ก็โทรศัพท์ทางไกล ไปหาคุณแม่ของเธอ ในนิวยอร์ก
คุณแม่ของเธอเคยป่วยแบบนี้มาแล้ว และเคยรักษากับนายแพทย์คาลตัน เฟรดเดอริค ผู้เชี่ยวชาญ ด้านไฮโปไกลซีเมียมาแล้ว คุณแม่ของเธอ ส่งรายการการรักษา และปฏิบัติตัวมาให้ ขั้นแรก คุณแม่ของเธอ สั่งให้งดกินขนม ตามที่แพทย์ประจำตัวของเธอสั่ง โดยเด็ดขาด ขั้นต่อไป ให้กินอาหาร ตามสูตร ออร์แกนิคคาร์โบ-ไฮโปรตีน และให้กินอาหารมื้อย่อยๆ อย่างน้อยวันละ 5 มื้อ และข้อสำคัญ ให้งดของหวาน เด็ดขาด
ซินดี้ บี เคร่งครัดเรื่องสูตรอาหารและปฏิบัติตามคุณแม่ของเธอบอก ชั่วเวลาเพียงเดือนเดียว อาการต่างๆ ของเธอหายขาด
(คนไข้รายนี้อยู่ในรายงานหนังสือของนายแพทย์คาลตัน เฟรดเดอริค และเฮอร์แมน กู้ดแมน ในหนังสือ ชื่อ “LOWBLOOD SUGAR AND YOU”)