NCD ย่อมาจาก Non Communicable Disease หรือ Lifestyle disease
คือ โรคไม่ติดต่อ โรคที่มาจากพฤติกรรมชีวิต(ที่ไม่ดี) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคที่เกิดจากบุหรี่ โรคที่เกิดจากการดื่มสุรา โรคเบาหวาน ฯลฯ
รายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) จากยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปีนั้น 57 ล้านคน ปรากฏว่า 36 ล้านคน หรือ 63% เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ อันดับหนึ่ง คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ (48% หรือ 17.28 ล้านคน) โรคมะเร็ง (21% หรือ 7.6 ล้านคน) โรคระบบหายใจเรื้อรัง (12% หรือ 4.2 ล้านคน) และโรคเบาหวาน(ที่เป็นสาเหตุโดยตรง 3.5% หรือ 1.3 ล้านคน) ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งดื่มแอลกอฮอล์มากไป
ประมาณ 80%ของยอดผู้เสียชีวิตของโรคไม่ติดต่อ หรือ 29 ล้าน(จาก 36 ล้าน) เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง และมากกว่า 9 ล้านคนที่เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อมีอายุน้อยกว่า 60 ปี (วัยทำงานหารายได้ให้ครอบครัว) และ 90%ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง ระบบหายใจเรื้อรัง และเบาหวาน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 80% ปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ 4 ประการ คือ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย แอลกอฮอล์ที่มากเกินไป และอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
โรคไม่ติดต่อเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง มักมีการดำเนินการของโรคอย่างช้าและใช้เวลานาน จึงจำเป็นต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมตั้งแต่ “เกิด”
คนทุกวัยมีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อ แต่โรคกลุ่มนี้มักพบในผู้สูงอายุ (เพราะใช้เวลานาน)
โรคไม่ติดต่อมักมาจากการเป็นผู้สูงอายุ การที่เมืองต่างๆเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการวางแผน จึงมีการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งถือได้ว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็น “Intermediate risk factors” (ปัจจัยเสี่ยง) ที่จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ฯลฯ
การสูบบุหรี่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ล้านคนทุกปี(รวมทั้ง 6 แสนคนที่เสียชีวิตจากการสูดควันบุหรี่จากผู้อื่นที่สูบบุหรี่ทั้งๆ ที่ตนเองไม่สูบ!!! - พ่อ แม่จึงควรระวังลูกหลาน) และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านในปี ค.ศ.2030
มีผู้เสียชีวิต 3.2 ล้านคนจากการที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
1.7 ล้านคนเสียชีวิตจากการทานผลไม้และผักน้อยไป
มีคนเสียชีวิต 2.5 ล้านคน (WHO 2012) จากการดื่มแอลกอฮอล์
โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 16.5% ของทั่วโลก บุหรี่ น้ำตาลในเลือดสูง การไม่ออกกำลังกาย และน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 9%, 6%, 6% และ 5% ตามลำดับ
ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้สามารถป้องกัน หรือลดความเสี่ยงได้ด้วยการมีความรู้ที่ถูกต้องและมีวินัยที่จะประพฤติตนเองให้เหมาะสม
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
จาก http://www.naewna.com/lady/columnist/6624
|
|