วิธีจัดการผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ตอนที่ 2
ภาวะโลหิตจาง
ยาเคมีบำบัดมักจะไปกดไขกระดูกทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด มีจำนวนลดลง โดยปกติเม็ดเลือดแดงจะเป็นตัวพาออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อจำนวนเม็ดเลือดแดงมีน้อยก็ส่งผลให้ร่างกายแต่ละส่วนได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกอ่อนเพลีย หายใจถี่ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์และตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง ควรรับประทานผักผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะตับ ไข่ อาหารทะเล ควรนอนหลับในช่วงกลางคืนนานขึ้นกว่าเดิม 1- 2 ชั่วโมง และอาจจะนอนกลางวันสัก 1-2 ชั่วโมง ถ้าต้องการออกไปข้างนอกควรมีเพื่อนไปเป็นเพื่อน หรือทำกิจกรรมควรมีเพื่อนช่วยทำ เวลาจะลุกนั่งควร จะค่อยๆ ลุกและเวลานอนเมื่อต้องการจะลุกขึ้นควรนั่งสักพักก่อนที่จะลุก ไม่ควรลุกพรวดพราดทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด มึนงง
เกร็ดเลือด มีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัว ผลจากยาเคมีบำบัดจะกดไขกระดูก ทำให้เกร็ดเลือดต่ำ จึงทำให้มีเลือดออกง่ายและหยุดยาก มีจ้ำเลือดตามตัว อาจพบจุดเล็กๆใต้ผิวหนังเวลาปัสสาวะ หรือบ้วนเสมหะจะมีเลือดปน ควรป้องกันเลือดออกง่ายโดยป้องกันร่างกายไม่ให้ถูกกระทบกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุ ใช้ลิปสติกมันทาปากให้ชุ่มชื่นเสมอ แปรงฟันด้วยแปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม หรือบ้วนปากทำความสะอาดแทนการแปรงฟัน ถ้ามีเลือดกำเดาออก ให้อยู่ในท่าแหงนหน้าเอามือบีบจมูก ถ้ามีอาการเขียวเป็นจ้ำๆ หรือเป็นผื่นแดง เลือดออก เช่น เลือดออกตามไรฟัน ไอ อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ ให้รีบพบแพทย์
ภาวะการติดเชื้อ
ภาวะนี้เกิดจากที่ยาเคมีบำบัดไปกดไขกระดูกตามที่กล่าวมา นอกจากจะทำให้เม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อยลงแล้ว ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวต่ำด้วย เม็ดเลือดขาวโดยปกติจะทำหน้าที่ต่อสู้กับแบคทีเรีย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเชื้อโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อแต่เมื่อมีจำนวนน้อยลงจึงทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แพทย์จะทำการตรวจเช็คเม็ดเลือดขาวตลอดในขณะที่ทำเคมีบำบัด ดังนั้นผู้ป่วยควรจะดูแลตัวเองด้านความสะอาดให้มากเป็นพิเศษ เช่น
- การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ รวมถึงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงด้วย
- การทำความสะอาดบริเวณทวารหนักหลังเข้าห้องน้ำ
- สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหน็บ หรือยาสวนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก อาจจะต้องปรึกษากับแพทย์ก่อนการใช้
- พยายามอยู่ห่างจากคนที่เป็นหวัด อีสุกอีใส วัณโรค ผู้เป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อได้ง่าย เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ
- พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่มีคนพลุกพล่าน
- จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาด อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา
- พยายามอย่าให้มีบาดแผล อย่าแกะหรือบีบสิว
- ดูแลความสะอาดในช่องปาก
- ควรอาบน้ำอุ่น ไม่ร้อนเกินไป ใช้ฟองน้ำถูตัว ไม่ควรถูหรือหรือขัดผิวหนังอย่างรุนแรง
- ทาครีมบำรุงผิวบริเวณผิวที่มีอาการแตกหรือแห้ง
- บริเวณที่เป็นแผล ควรหมั่นดูแลความสะอาดแผลทุกวัน
- ระวังการฉีดวัคซีน ถ้าต้องการฉีดวัคซึนควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ไข่ที่ไม่สุก เป็นต้น
- งดรับประทานผัก ผลไม้สด ควรเป็นผักที่ต้มสุกและปอกเปลือกผลไม้ก่อนรับประทาน
- ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร
- หากมีอาการปัสสาวะแสบ ปวดขัด มีไข้ ควรพบแพทย์
ปัญหาภายในช่องปาก เหงือก และคอ
ควรดูแลสุขภาพภายในช่องปากให้ดี เพราะผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัดนั้นมักจะเป็นแผลในปาก ที่เหงือก หรือมีอาการเจ็บคอ บางครั้งอาจมีเลือดออกมาด้วยทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย จากปัญหาในช่องปากนี้เอง ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นถ้าปัญหาในช่องปากไม่มีนั้นหมายความว่าเราสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อไปได้อีกหนึ่งประการโดยอัตโนมัติ
การดูแลสุขภาพในช่องปากที่ควรทราบ
- ปรึกษาทันตแพทย์เรื่องการดูแล ชนิดของยาสีฟันและแปรงที่ควรใช้ขณะทำเคมีบำบัดเรื่องเหงือกเพื่อป้องกันเหงือกอักเสบ เป็นต้น
- แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร และใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม
- ควรใช้ยาสีฟันเด็ก
- กลั้วปากด้วยน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุกหลังรับประทานอาหารและก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปาก
- ถ้ากรณีมีแผลในช่องปาก ควรรับประทานที่ไม่อุ่นหรือร้อน เพื่อป้องกันการระคายเคืองแผลทานอาหารอ่อนๆ ผลไม้ที่ไม่แข็งมากนัก เช่น กล้วย เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวหรือที่มีคุณสมบัติเป็นกรด เช่น มะนาว องุ่น สับปะรด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม
- ดื่มน้ำบ่อยๆ
- ทาลิปบาล์มหรือวาสลีนเพื่อป้องกันริมฝีปากแตกและแห้ง
- ถ้าปากคุณแห้งและเจ็บ ควรรับประทานอาหารที่นุ่มและเย็น เช่น ไอศกรีม อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆบ่อยๆ ดื่มน้ำผลไม้เย็นจัด
- การรับประทานโดยใช้หลอดดูดอาหาร จะทำให้รับประทานอาหารได้ง่ายขึ้น
ท้องเสีย
ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดบางรายอาจมีอาการท้องเสียขึ้นได้ หากท้องเสียติดต่อกันเกิน 1 วันหรือมีอาการปวดท้อง มวนท้องขณะท้องเสีย ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้น้ำเกลือหรือสารอาหารเพื่อทดแทน ไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือยาฆ่าเชื้อเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน การปฏิบัติดังต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้
- ดื่มน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร
- รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ บ่อยๆครั้งสลับกับเกลือแร่ในระหว่างวัน
- รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงเพราะอาการท้องเสียนั้นทำให้เราสูญเสียแร่ธาตุ เช่น กล้วย ส้ม มันฝรั่ง ปลา เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่เครื่องเทศ และอาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ร้อนหรือเย็นจัด
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน
- หลีกเลี่ยงการทานนม แต่สามารถทานนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตได้
- รับประทานอาหารที่มีกากน้อยลง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่ว กะหล่ำ หัวหอม เครื่องเทศ อาหารหวาน
- ควรรับประทานข้าวต้มเปล่าๆ เนื่องจากมีสรรพคุณ เพิ่มกำลังและช่วยลดอาการท้องเสีย งดรับประทานข้าวสวย ควรรับประทานตามลำดับจากน้ำข้าวผสมเกลือจนถึงข้าวต้มใสๆ เพื่อให้ลำไส้ได้ปรับตัว
- หลังขับถ่ายอุจจาระ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ เช็ดให้แห้งทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ถ้ารอบทวารหนักมีแผลเปื่อยแดงจากการถ่ายบ่อย ให้แช่ก้นด้วยน้ำอุ่นแล้วเช็ดให้แห้ง
- ถ้าอาการไม่ทุเลา ให้ปรึกษาแพทย์