ในบรรดาโรคภัยต่างๆ นั้น โรคไหนจะหวานเกินไปกว่าโรค “เบาหวาน” จริงไหมครับ ฉบับนี้เราจึงมาว่ากันด้วยเรื่องยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน โดยคิดว่าท่านผู้อ่านน่าจะพอทราบเกี่ยวกับเรื่องโรคกันอยู่พอควรแล้ว เราขอเอาใจผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นพิเศษเลยครับ
ทำความรู้จักกับโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM)
ในภาวะปกติ เมื่อเรารับประทานอาหารจำพวกแป้ง ร่างกายจะมีการย่อยต่อไปเป็นน้ำตาล และดูดซึมไปใช้เป็นพลังงาน โดยจะมีฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่สร้างจากกลุ่มเซลล์เบต้าเซลล์ที่อยู่ในตับอ่อน เป็นตัวควบคุมการนำน้ำตาลเข้าไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีการทำงานของกลุ่มเซลล์เบต้าเซลล์ในตับอ่อนที่ลดลง ทำให้เกิดภาวะขาดฮอร์โมนอินซูลิน เรียกว่า “เบาหวานชนิดที่ 1 (Type I DM)” หรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) คือร่างกายผลิตอินซูลินตามปกติ แต่การตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินลดลง ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เรียกว่า “เบาหวานชนิดที่ 2 (Type II DM)” หรือบางคนอาจพบทั้งสองภาวะเลยก็ได้ โดยหลังจากงดอาหารเพื่อเจาะวัดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่า 126 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
ยาที่ใช้ในโรคเบาหวาน
หลังจากทำความรู้จักเบาหวานทั้ง 2 ชนิดแล้ว คราวนี้มาทำความรู้จักกับยาที่ใช้กันบ้างครับ โดยการออกฤทธิ์ของยาย่อมจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของโรคที่เป็น
1. ยาฉีดอินซูลิน (Insulins) ทำหน้าที่ทดแทนอินซูลินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้ โดยเป็นอินซูลินที่สังเคราะห์ขึ้น หรือได้จากการดัดแปลงโครงสร้างของอินซูลินที่ได้จากสัตว์ เพื่อให้มีการออกฤทธิ์ที่ใกล้เคียงอินซูลินปกติของมนุษย์ และมีการออกฤทธิ์ในระยะเวลาที่เหมาะสม นานเพียงพอสำหรับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยอินซูลินมีหลายชนิด ตามแต่ช่วงการมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น น้ำตาลสูงหลังมื้ออาหาร ระหว่างมื้ออาหาร หรือชนิดที่ออกฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ตลอดวัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป
เดิมมีการใช้อินซูลินสำหรับทดแทนในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่มีการขาดอินซูลินเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาว่าการใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิด 2 ร่วมกับยารับประทานก็จะช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น การฉีดยาจึงไม่ได้บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคเบาหวานเสมอไป แต่กลับช่วยให้ควบคุมโรคได้มากขึ้น
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาฉีดอินซูลิน คือ การใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ปรับขนาดยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ และใช้ในเวลาที่แพทย์ระบุ เช่น ตามเวลานาฬิกา หรือตามมื้อและปริมาณของอาหารที่ทาน เพราะยาฉีดชนิดนี้จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ผู้ป่วยและญาติควรต้องศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขภาวะนี้เตรียมไว้เสมอด้วย
2. ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) ยากลุ่มนี้จะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ทำให้สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ต้องรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที เพื่อให้ยาดูดซึมและออกฤทธิ์ทันพอดีกับมื้ออาหารที่รับประทานเข้าไป จะเห็นว่าอาการข้างเคียงคือ การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้น สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนการฉีดยาอินซูลิน ดังนั้นผู้ป่วยควรรับประทานยาและอาหารให้ตรงเวลา ห้ามงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อที่รับประทานยานี้
ตัวอย่างยา เช่น Glibenclamide, Glipizide, Gliclazide, Glimepiride ยาบางตัวจะมีรูปแบบที่ค่อยๆ ให้ตัวยาออกมาจากเม็ดยาทีละน้อย (Modified-release) ดังนั้นต้องรับประทานทั้งเม็ด ห้ามบดเคี้ยวหรือหักแบ่งเม็ดยา เพราะจะทำให้ยาออกมาครั้งเดียวหมด ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียนี้ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาซัลฟา (Sulfonamides) ด้วย
3. ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase Inhibitors) ยากลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ในร่างกายที่ใช้ในการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล เมื่อรับประทานยาในกลุ่มนี้จึงทำให้การย่อยและการดูดซึมน้ำตาลช้าลงด้วย เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดจึงควรรับประทานพร้อมอาหารคำแรก โดยการเคี้ยวเพื่อให้ยาสัมผัสกับอาหารได้มากที่สุดนั่นเอง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Acarbose, Voglibose เป็นต้น
เหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลสูงหลังมื้ออาหาร สามารถใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่นๆ เพื่อเสริมฤทธิ์ ยานี้ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกันแต่พบน้อย อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ อาการท้องอืด ผายลมบ่อย เนื่องจากแป้งที่ดูดซึมไม่หมดตกค้างอยู่ในทางเดินอาหารนั่นเอง
4. ยากลุ่มไบกัวไนด์ (Biguanides) ยากลุ่มนี้จะลดการสร้างน้ำตาลจากตับ ทำให้อินซูลินทำงานที่ตับได้ดีขึ้น โดยจะไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือสามารถลดลงได้บ้าง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก และยาจะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำลงด้วย เพราะไม่ได้กระตุ้นการหลั่งอินซูลินโดยตรง
ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้กันมากมีเพียงตัวเดียว คือ Metformin โดยอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ มวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งสามารถลดลงได้โดยการรับประทานยาหลังอาหารทันที และต้องได้รับการตรวจการทำงานของตับและไตจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
5. ยากลุ่มกลิทาโซน (Glitazones) ยากลุ่มนี้ที่เหลือใช้กันมีเพียงตัวเดียว คือ Pioglitazone ยาจะทำงานโดยไปลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้การออกฤทธิ์ของอินซูลินที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น ลดการหลั่งกลูโคสจากตับ และลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้ด้วย
ข้อเสียของยาคือ ทำให้เกิดการบวมน้ำเนื่องจากร่างกายเก็บน้ำมากขึ้น ต้องมีการตรวจการทำงานของตับในช่วงที่ใช้ยา ยานี้ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และสามารถทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
6. ยากลุ่มกลิปทิน (Gliptins) ยากลุ่มนี้เป็นยาลดน้ำตาลแบบรับประทานกลุ่มใหม่ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ DPP-4 ซึ่งจะไปทำลายฮอร์โมนอินคริติน (Incretin) ในลำไส้ ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร โดยตัวหลักคือ GLP-1 โดยปกติอินคริตินจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งอินซูลินและลดการหลั่งกลูคากอน ทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยานี้จะทำงานเฉพาะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น จึงไม่ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ ตัวอย่างยาเช่น Vildagliptin, Sitagliptin, Saxagliptin
7. ยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้หลังจากใช้ยารับประทานอย่างเต็มที่แล้ว ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์สารเลียนแบบ GLP-1 ตามธรรมชาติ (GLP-1 Analog) โดยฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ซึ่งยากลุ่มใหม่นี้จะมีข้อดีในการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มขึ้น และไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แล้วยังมีผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ชะลอการเสื่อมของเบต้าเซลล์ในตับอ่อนได้ด้วย อาการข้างเคียงที่สำคัญ คือ คลื่นไส้ ปวดมวนท้อง เบื่ออาหาร โดยจะพบในช่วงแรกๆ ของการใช้ยา และห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ออาการเกิดมะเร็งของต่อมไทรอยด์ซึ่งต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาเท่านั้น ตัวอย่างยา เช่น Exenatide, Liraglutide
ข้อควรปฏิบัติในการรักษาโรคเบาหวาน
-
ไม่ปรับขนาดยาเอง เว้นแต่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
-
ไม่เปลี่ยนยาด้วยตนเอง เพราะแพทย์จะเป็นผู้เลือกยาให้เข้ากับภาวะเบาหวาน การทำงานของตับและไต และโรคอื่นๆ ที่คุณเป็นร่วมอยู่ด้วย
-
ไม่รับประทานยาของผู้อื่น หรือแบ่งยาให้ผู้อื่น เพราะภาวะโรคที่เป็นไม่เหมือนกัน ระดับน้ำตาลที่ไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้
-
รับประทานยาหรือใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอการดำเนินไปของโรคเบาหวาน
-
นอกเหนือจากยาเบาหวาน ควรรับประทานยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้ทุกๆ โรคดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน
-
การติดตามตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วยตนเองที่บ้านเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สามารถปรึกษาวิธีการตรวจได้จากแพทย์ผู้รักษา และติดตามระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ทุกๆ 3 เดือน
-
ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่ออ่านเรื่องยาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว หวังว่าจะมีความเข้าใจมากขึ้น และสามารถใช้ยาตามที่แพทย์สั่งได้ถูกต้อง และต้องไม่ลืมพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะห่างไกลจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานเข้าไต โรคหัวใจและหลอดเลือด จะได้ใช้ชีวิตหวานๆ ร่วมกับโรคเบาหวานอย่างมีความสุขครับ